วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

โคลนติดล้อ


ขอบคุณที่มา >>> http://www.digitalschool.club/

เรื่องย่อ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ คำนำของเรื่องโคลน ติดล้อไว้ตอนหนึ่งว่า  ธรรมดารถซึ่งขับเร็วไปในถนนซึ่งมีโคลน โคลนนั้นก็ย่อมกระเด็นเปรอะเปื้อนรถเป็นธรรมดา และบางทีก็เป็นอันตรายได้โดยเหตุที่ม้าพลาดหรือล้มลง แต่ล้อแห่งรถนั้นในเวลาที่ถึงที่หยุดแล้วจะมีโคลนก้อนใหญ่ๆ ติดอยู่ก็หาไม่  เพราะว่าโคลนซึ่งติดล้อในระหว่างที่เดินทางนั้นได้หลุดกระเด็นไปเสียแล้วด้วยอำนาจความเร็วแห่งรถนั้นส่วนรถที่ขับช้าๆ ไปในถนนซึ่งมีโคลนทางเดียวกันย่อมไม่สู้จะเปรอะเปื้อนหรือเป็นอันตราย ด้วยเหตุที่ม้าพลาดหรือล้มนั้นจริง แต่ล้อแห่งรถนั้นย่อมจะเต็มไปด้วยโคลนอันใหญ่และเหนียวเตอะตัง  ซึ่งนอกจากแลดูไม่เป็นที่จำเริญตาแล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องกีดขวางและทำให้ล้อเคลื่อนที่ช้าได้ลง  ในคำนำนี้เองได้ทรงเปรียบประเทศเป็นรถ โดยทรงยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยว่า  การที่ประเทศญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ค่อยมีอุปสรรคมาขัดขวางการพัฒนาประเทศ  แต่ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าได้ช้า เพราะยังมีอุปสรรคมากมายด้านซึ่งเกิดจากบุคคลในชาติ   ถ้าปรารถนาจะให้ประเทศพัฒนาไปได้เร็ว ก็ควรต้องขจัดอุปสรรคหรือปัญหาดังกล่าวให้สิ้นไป ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็มิใช่ว่าจะทำไม่ได้ถ้ามีความพยายาม
เรื่องโคลนติดล้อ มีทั้งสิ้น 12 บท คือ
1.  การเอาอย่างโดยไม่ตริตรอง                 
2.  การทำตนให้ต่ำต้อย                                       
3.  การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ                             
4.  ความนิยมเป็นเสมียน                                     
5.  ความเห็นผิด                                                 
6.  ถือเกียรติยศไม่มีมูล   
7.  ความจนไม่มีจริง                                           
8.   แต่งงานชั่วคราว                                           
9.   ความไม่รับผิดชอบของบิดามารดา                   
10.  การค้าหญิงสาว                                           
11.  ความหยุมหยิม                                            
12.  หลักฐานไม่มั่งคง

เรื่องย่อ
           ประเทศไทยพัฒนาไปไม่ได้รวดเร็วเพราะมีปัญหากีดขวางความเจริญอยู่หลายประการ
ประการแรก การเอาอย่างโดยไม่ไม่ตริตรองเป็นปัญหาที่สำคัญและร้ายแรงที่สุด การเอาอย่างชาวตะวันตกทำให้ดูเหมือนว่าคนไทยจะได้รับความนับถือจากชาวยุโรป แต่ความจริงแล้วมิใช่ เพราะมนุษย์ย่อมจะนับถือผู้ที่สูงกว่าและดูหมิ่นผู้ที่ต่ำกว่า ฉะนั้นการเอาอย่างจึงเท่ากับเป็นการยอมรับถึงความต่ำต้อยเราจึงควรริเริ่มคิดทำอะไรด้วยตนเอง
ประการที่ การทำตนให้ต่ำต้อยด้วยการนิยมตะวันตก เพราะเชื่อว่าการทำงานอะไรถ้าจะทำให้ดีแล้วต้องอาศัยชาวตะวันตกทั้งสิ้น เป็นการไม่นับถือตนเอง ควรที่คนไทยซึ่งมีความรู้ความสามารไม่น้อยกว่าชาวตะวันตกจะประกอบการงาน  เพื่อประโยชน์และความเจริญของประเทศชาติด้วยตนเองให้มากขึ้น
 
ประการที่ 3 การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ  คือการเชื่อถือข้อเขียนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์อย่างปราศจากวิจารณญาณ ทั้งๆ ที่เป็นข้อเขียนที่เกิดจากอคติต่อรัฐบาล โดยผู้เขียนยึดเป็นประเพณีที่จะต้องคัดค้านรัฐบาลอย่างไม่รับผิดชอบการเชื่อถือทุกเรื่องจึงเท่ากับเป็นการดูหมิ่นสติปัญญาของเราเอง
ประการที่ 4 ความนิยมเป็นเสมียน ทำให้คนหนุ่มๆ ที่มีการศึกษาไม่คิดจะประกอบอาชีพอื่น นอกจากนิยมทำงานในสำนักงาน ทั้งๆ ที่ควรจะประกอบอาชีพต่างๆ กันไปเพื่อให้เกิดประโยชน์และความสมบูรณ์แก่ประเทศชาติ
ประการที่ 5 ความเห็นผิดของคนไทยที่มีการศึกษาเพราะคิดว่าการประพฤติตนให้เหมือนตะวันตกเป็นเรื่องดีงาม   ทั้งๆ ที่ความประพฤติบางอย่างเป็นเรื่องผิดจรรยา เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่มักจะอ้างว่าเป็นเรื่องของอิสรภาพและเสรีภาพ เราซึ่งเป็นคนไทยควรสงวนความประพฤติอันดีงามแบบไทยแท้ไว้
ประการที่ 6 การถือเกียรติยศไม่มีมูล  ทำให้กลายเป็นตัวตลก เป็นที่เย้ยหยันแก่ผู้พบเห็น คนจำพวกถือเกียรติยศโดยไม่มีมูลเป็นผู้ที่มีความคับแคบคิดว่าตนเป็นสำคัญและเป็นคนดีที่สุดในโลก อ้างเอา ลัทธิ    อคารโว” (การไม่คารวะ) มาใช้ นั่นคือการแสดงวาจาหยาบคาย ไม่เคารพนับถือผู้ที่มีอายุหรือผู้ที่สูงกว่าถือความเสมอภาคทั้งๆ ที่ควรถ่อมตนและแสดงกิริยาเรียบร้อย ซึ่งจะทำให้ได้รับการสรรเสริญจากคนทั้งปวง
ประการที่ 7 ความจนไม่จริง  เป็นความเห็นผิดอันเกิดจากความเห็นแก่ตน คิดถึงแต่ตัวเองเป็นสำคัญยิ่งกว่าการประกอบกิจการใดๆ มุ่งแต่แสวงหาความสุขสำราญส่วนตัวจนกระทั่งยากจน เป็นเหตุให้มีผู้ร้องทุกข์แก่รัฐบาลให้หาทางแก้ไขความยากจนดังกล่าว ทั้งๆ ที่คนไทยไม่ได้ยากจนจริง แต่เป็นเพราะใช้จ่ายเกินตัวจึงทำให้เดือดร้อน ซึ่งควรโทษตนเองมิใช่โทษรัฐบาล
ประการที่ 8 การแต่งงานชั่วคราว  เป็นปัญหาที่เกิดจากบิดามารดาขายบุตรสาวให้แก่ผู้ชาย  โดยมิได้ถามความเห็นหรือความยินยอมของลูก ทำให้หญิงบางคนต้องตกนรกทั้งเป็น บางคนก็ถูกสามีผู้มีภรรยาใหม่ขับไล่โดยไม่ให้สมบัติ การแต่งงานแบบชั่วคราวดังกล่าวนี้ตึงเป็นการ แต่งงานโดยธรรมดาโลกซึ่งคิดจะเลิกกันเมื่อใดก็ได้ผู้ที่เสียเปรียบคือฝ่ายหญิง     ยิ่งถ้ามีบุตรด้วยกัน ความอัปยศก็จะตกอยู่กับเด็ก การแต่งงานชั่วคราวจึงเป็นการทำลายชาติโดยอ้อม
ประการที่ 9 ความไม่รับผิดชอบของบิดามารดามักเกิดจากครอบครัวที่แต่งงานกันโดยธรรมโลก ต่อมาเมื่อมีบุตร แรกๆ ก็อาจรักใคร่บุตรดีอยู่ แต่ต่อมาผู้เป็นบิดาอาจเบื่อหน่าย บางคนมีภรรยาใหม่ ส่วนมารดาบางคนก็เลี้ยงดูลูกอย่างดี แต่บางคนก็ละทิ้งหน้าที่ เด็กที่เกิดมาแล้วขาดความรักจากบิดามารดาจึงนับว่ามีกรรม เมื่อโตขึ้นอาจประพฤติชั่วได้ การแก้ไขปัญหานี้กระทำได้โดยให้หญิงชายเข้าใจในความรับผิดชอบของการแต่งงานเสียก่อนว่า จะต้องมีหน้าที่อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุตรของตนให้เป็นคนซื่อตรง และเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ
ประการที่ 10 การค้าหญิงสาว   เป็นอีกด้านหนึ่งที่เกิดจากการแต่งงานกันชั่วคราว  โดยธรรมดาโลกและความไม่รับผิดชอบของบิดามารดา บิดามารดาบางคนถึงกับเฆี่ยนตีบุตรสาวให้ยินยอม แต่เมื่อสามีเบื่อทิ้งขว้าง บางคนก็ถึงกับหันไปประกอบอาชีพ หญิงโคมเขียว” (หญิงโสเภณี) ดังนั้นวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาก็คือสั่งสอนให้บิดามารดารู้สึกอัปยศในการขายบุตรสาว แต่ก็ย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากบรรดาหนุ่มๆ ที่ประสงค์จะซื้อด้วย
ประการที่ 11 ความหยุมหยิม  เป็นผลโดยตรงจากการถือตนเป็นสำคัญ กิจการใดๆ ถ้าตนมิได้มีส่วนหรือมีความสำคัญที่จะทำให้ตนได้รับคำสรรเสริญก็จะไม่เห็นด้วยทั้งสิ้น นับว่าเป็นการคิดร้าย   ไม่มุ่งประโยชน์ต่อชาติเป็นที่ตั้ง หาคิดไม่ว่ากิจการใดที่เป็นประโยชน์แก่ชาติย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ตนเหมือนกัน ดังนั้นจึงควรปลดเปลื้องนิสัยหยุมหยิมออกไปจากตนเอง
ประการที่ 12 หลักฐานไม่มั่นคง คือการไม่รู้จักประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างอันดีงามทั้งในทางราชการและในกิจการส่วนตัว ผู้ใดที่มีหน้าที่ราชการดีแต่บกพร่องเรื่องส่วนตัวก็เรียกได้ว่าเป็นผู้มีหลักฐานไม่มั่นคง มีแต่จะทำให้เสียชื่อเสียง ไม่เป็นที่นับถือของคนทั้งปวง ถ้าชาติใดมีบุคคลที่มีหลักฐานไม่มั่นคงมากๆ ชาตินั้นก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาติอื่น ดังนั้นคนไทยควรประพฤติตนให้เป็นคนสุจริตทั้งกายวาจาใจ ไม่ประพฤติตนเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก เลิกความเห็นผิดที่ว่าความกลับกลอกเป็นลักษณะของคนฉลาดเสีย